สภาพทั่วไปและข้อมูลพื้นฐานของ
องค์การบริหารส่วนตำบลยางช้าย
ข้อมูลที่ตั้งและอาณาเขต
องค์การบริหารส่วนตำบลยางช้าย เป็นหนึ่งในองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น 14 แห่งในอำเภอโพธิ์ทอง จังหวัดอ่างทอง อยู่ห่างจากที่ว่าการอำเภอประมาณ 15 กิโลเมตร ได้ยกฐานะจากสภาตำบลมาเป็นองค์การบริหารส่วนตำบลยางช้าย ตามประกาศราชกิจจานุเบกษา เมื่อวันที่ 16 ธันวาคม 2539 ซึ่งมีรายละเอียดของข้อมูลทั่วไป และข้อมูลพื้นฐานขององค์การบริหารส่วนตำบลยางช้าย มีดังนี้
ตำบลยางช้าย ตั้งอยู่ทางทิศตะวันตกของอำเภอโพธิ์ทอง มีอาณาเขตติดต่อกับตำบล
และอำเภอต่างๆ ดังต่อไปนี้
- ทิศเหนือ จดตำบลหนองแม่ไก่ อ.โพธิ์ทอง และตำบลบ้านพราน อ.แสวงหา
- ทิศใต้ จดตำบลม่วงเตี้ย อ.วิเศษชัยชาญ และตำบลราษฎรพัฒนา อ.สามโก้
- ทิศตะวันออก จดตำบล คำหยาด อ.โพธิ์ทอง
- ทิศตะวันตก จดตำบล รำมะสัก อ.โพธิ์ทอง และตำบลมงคลธรรมนิมิตร อ.สามโก้
เนื้อที่
ตำบลยางช้าย มีพื้นที่ ทั้งหมด 30 ตารางกิโลเมตร (18,750 ไร่) มีพื้นที่ทำการเกษตร 24 ตารางกิโลเมตร (15,000 ไร่) ส่วนที่เหลือเป็นที่อยู่อาศัย และสถานที่ราชการ เช่น วัด โรงเรียน ตอนชลประทาน คลองชลประทาน ฯลฯ เป็นต้น
ลักษณะภูมิประเทศ
ลักษณะภูมิประเทศโดยทั่วไป พื้นที่ส่วนใหญ่เป็นที่ราบลุ่ม ไม่มีภูเขา ไม่มีป่าไม้ดินเป็นดินเหนียวปนทราย พื้นที่ส่วนใหญ่เหมาะแก่การทำนาข้าว ทำไร่ และทำสวนมีคลองชลประทานเชื่อมต่อกันทุก หมู่บ้าน โดยมีคลองชลประทานหลัก คือ คลอง 1 ขวา (คลองสีบัวทอง) ซึ่งประชากรส่วนใหญ่ มีอาชีพทำการเกษตร เช่น ทำนา ทำสวน ทำไร่ และเลี้ยงสัตว์ ฯลฯ เป็นต้น
ลักษณะของอากาศ
เนื่องจากตำบลยางช้าย อำเภอโพธิ์ทอง จังหวัดอ่างทองตั้งอยู่ในเขตพื้นที่ร้อนชุ่มชื้น ดังนั้นภูมิอากาศจึงเป็นแบบฝนเมืองร้อนโดยได้รับอิทธิพลจากลมมรสุมตะวันออกเฉียงเหนือในช่วงเดือนพฤศจิกายน ถึงเดือนกุมภาพันธ์ ทำให้อากาศหนาวเย็นและแห้งแล้ง และได้รับอิทธิพลจากลมมรสุมตะวันตกเฉียงใต้ ในช่วงเดือนพฤษภาคม ถึงเดือนกันยายน ทำให้มีเมฆมากและมีฝนตกชุก
ฤดูกาล แบ่งออกเป็น 3 ฤดู คือ
- ฤดูร้อน เริ่มตั้งแต่เดือนมีนาคม – พฤษภาคม
- ฤดูฝน เริ่มตั้งแต่เดือนมิถุนายน – ตุลาคม
- ฤดูหนาว เริ่มตั้งแต่เดือนพฤศจิกายน – กุมภาพันธ์
อุณหภูมิและความชื้นสัมพัทธ์ ภาพโดยรวมในจังหวัดอ่างทองมีอุณหภูมิเฉลี่ยตลอดทั้งปี ประมาณ 28.2 องศาเซลเซียส อุณหภูมิสูงสุดในเดือนเมษายน ประมาณ 31 องศาเซลเซียส และต่ำสุดเดือนธันวาคม ประมาณ 24.8 องศาเซลเซียส ความชื้นสัมพัทธ์เฉลี่ยตลอดปีของจังหวัดอ่างทองมีค่าค่อนข้างสูง คือ ประมาณ 71.5 เปอร์เซ็นต์ สูงสุดเดือนตุลาคม 78.9 เปอร์เซ็นต์ ต่ำสุดเดือนเมษายน 65.1 เปอร์เซ็นต์
ปริมาณน้ำฝน ภาพโดยรวมในจังหวัดอ่างทองมีปริมาณน้ำฝนอยู่ในเกณฑ์ฝนตกน้อย แต่ไม่ค่อยมีปัญหาความแห้งแล้ง เนื่องจากมีแม่น้ำสายใหญ่ไหลผ่าน ประกอบกับลักษณะภูมิประเทศเป็นที่ราบลุ่ม สามารถรักษาความชุ่มชื้นไว้ได้นานและมีระบบชลประทานที่ดี ปริมาณน้ำฝนในพื้นที่จังหวัดอ่างทอง มีการผันแปรตามพื้นที่ไม่มากนัก
ลักษณะของดิน
ในพื้นที่จังหวัดอ่างทองโดยภาพรวมส่วนใหญ่ มีดินชนิดต่าง ๆ แพร่กระจายอยู่ 8 กลุ่มชุดดินโดยมีพื้นที่รวมกันทั้งหมด 594,064.38 ไร่ กลุ่มชุดดินที่พบในพื้นที่ส่วนใหญ่ของจังหวัดอ่างทอง เป็นดินที่เหมาะสำหรับการปลูกข้าว เพราะเป็น ดินเหนียว มีการระบายน้ำเลว ส่วนพื้นที่ที่มีเนื้อดินเป็นดินร่วนหรือดินร่วนปนทราย มีการระบายน้ำดีปานกลาง ก็สามารถปลูกพืชไร่ได้ เช่น อ้อย
ลักษณะของแหล่งน้ำ
แหล่งน้ำในตำบลยางช้าย อำเภอโพธิ์ทอง จังหวัดอ่างทอง 2 ลักษณะ คือ
1) แหล่งน้ำที่ใช้ในการเกษตร ได้แก่ คลองส่งน้ำ คลองระบายน้ำ แหล่งน้ำธรรมชาติ และบ่อบาดาลเพี่อการเกษตรกรณีช่วงฤดูแล้ง
2) แหล่งน้ำเพื่ออุปโภค บริโภค ได้แก่ ระบบประปา หมู่บ้าน โดยมีใช้ทุกครัวเรือน ส่วนในบางช่วงที่เป็นฤดูแล้ว ทางองค์การบริหารส่วนตำบลยางช้ายได้จัดรถบรรทุกน้ำเพื่อบรรเทาความเดือดร้อนกรณีบางพื้นที่ที่ต้องการ และขาดแคลน
ลักษณะของไม้และป่าไม้ ในพื้นที่ตำบลยางช้าย มีคลองชลประทานไหลผ่านหลายเส้น และมีถนนตัดผ่านทุกๆหมู่บ้านพื้นที่ ไม่มีป่าไม้ แต่ในทุกๆ พื้นที่ริมทาง และริมคลองชลประทาน มีต้นไม้ขึ้นตามธรรมชาติ และชาวบ้าน ร่วมกับหน่วยราชการ ร่วมกันปลูกเพื่อเฉลิมพระเกียรติฯ เนื่องในโอกาสต่างๆ และเพื่อให้ร่มเงา รวมถึงประชาชนสามารถเก็บกินได้ เช่น ขี้เหล็ก แค มะรุม ฯลฯ
ประชากร
ตำบลยางช้าย มีจำนวน 2,012 ครัวเรือน มีประชากรทั้งสิ้น 5,899 คน แยกเป็นชาย 2,823 คน หญิง 3,076 คน และ จากสถิติประชากรจากทะเบียนบ้าน ณ วันที่ 30 กันยายน 2563
หมู่บ้าน ชาย หญิง รวม
หมู่ที่ 1 ยางช้าย 236 278 514
หมู่ที่ 2 ยางช้าย 367 380 747
หมู่ที่ 3 ห้วยราชคราม 284 307 591
หมู่ที่ 4 ยางช้าย 305 369 674
หมู่ที่ 5 คลองขุด 237 281 518
หมู่ที่ 6 ยางช้าย 307 287 594
หมู่ที่ 7 โรงนา 200 208 408
หมู่ที่ 8 งิ้วราย 326 413 739
หมู่ที่ 9 งิ้วราย 201 228 429
หมู่ที่ 10 หนองสุ่ม 140 122 262
หมู่ที่ 11 ตุ่มดิน 220 203 423
รวม 2,823 3,076 5,899